ทางเลือกอื่นในการจัดการลุ่มแม่น้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar

ทางเลือกอื่นในการจัดการลุ่มแม่น้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 ข้อจำกัดที่สำคัญของนักสร้างเขื่อนก็ คือ การพิจารณาแต่เพียงว่ามีหุบเขาที่ไหนที่สร้างเขื่อนได้ก็จะเสนอโครงการสร้างเขื่อนทันที โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมทางนิเวศวิทยา ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความไม่เป็นธรรมหรือความขัดแย้งในสังคม นั่นคือข้อจำกัดอย่างยิ่งของวิศวกร กรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นเป็นตัวอย่างได้ดี 


 ความจริงแล้วปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมในเขตลุ่มแม่น้ำยม ประการหนึ่งเกิดจากสภาพของลุ่มน้ำในเขตร้อนที่จะต้องมีฤดูแล้ง-ฤดูฝน ที่สำคัญแม่น้ำที่มีที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง(Flood-plain) คือสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติของแม่น้ำได้สร้างให้กับมนุษย์ แต่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจนสร้างความเสียหายรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากผลพวงมาจากการทำลายธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานผิดที่ การใช้ที่ดินผิดประเภทและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในการเสนอให้สร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหานี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงแล้ว ผลที่ตามมาจากการที่เขื่อนไปทำลายธรรมชาติก็จะยิ่งเกิดปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ได้อย่าง เสียอย่างและก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวจึงไม่ใช่การพัฒนา


 ในการจัดการลุ่มแม่น้ำยมแนวความคิดหลักที่ควรจะนำมาพิจารณา คือ การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีวิธีอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกอีกมากมายโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนดังต่อไปนี้ 


 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 


 ลุ่มแม่น้ำยมมีพื้นที่ป่าไม้น้อยมากเมื่อเทียบกับลุ่มน้ำอื่น ๆ ของประเทศ เนื่องจากการทำลายป่าที่ต่อเนื่องมากว่า 1 ศตวรรษ นับแต่การเข้ามาของชาติตะวันตกที่เข้ามาสัมปทานทำไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 การให้สัมปทานทำไม้แก่เอกชนของรัฐบาลไทย ต่อเนื่องมาจนถึงการทำไม้เถื่อนในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพของลุ่มน้ำ ดังที่ UNESCO ได้ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้กับน้ำว่า"น้ำที่ปล่อยออกมาจากบริเวณที่รองรับน้ำฝนที่มีป่าไม้จะมีปริมาณไม่เกิน 1-3% ของปริมาณน้ำฝนที่ตก แต่เมื่อป่าถูกทำลายน้ำที่ถูกปล่อยออกมาสู่แม่น้ำจะมีปริมาณถึง 97-98% เลยทีเดียว"การฟื้นฟูป่าไม้(โดยการประกาศป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ปลูกป่า ฯลฯ)นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพให้กลับคืนมา


 การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ 


 แม่น้ำยมและลำน้ำสาขาต่าง ๆ ในปัจจุบันเสื่อมโทรมลงเนื่องจากการทับถมของตะกอน(ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แม่น้ำยมมีหินที่กัดเซาะได้ง่าย การทำลายป่าไม้ และการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้อง) ทำให้แม่น้ำยมไม่สามารถรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บน้ำในฤดูแล้งได้ การขุดลอกตะกอนจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ 


 การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม


 ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในปัจจุบันถูกคุกคามอย่างหนักเนื่องจากการเข้าไปตั้งชุมชนและเมืองของมนุษย์จนทำให้ที่ราบลุ่ม แม่น้ำยมไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้และทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยมสามารถทำได้โดย


 -ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง 


 -การยกถนนให้สูงขึ้นหรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ 


 -การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด 


 -การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น/พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 


 -การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม 


 -การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 


 -การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 


 สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศ ไม่เกิดความขัดแย้งในสังคม ใช้งบประมาณไม่มากประชาชนมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับแล้ว ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศ์กเมตร(มากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก)


 ตัวอย่างในการใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำในการป้องกันน้ำท่วมก็คือ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์ (Charles River Flood-plain) ในมลรัฐแมสซาซูเส็ทท์ ในการป้องกันน้ำท่วมหลังจากการศึกษาพบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์พื้นที่ 3,800 แฮคแตร์(23,750 ไร่ หรือเล็กกว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 15 เท่า)ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ จากการที่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ 40% ได้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเสียหายถึงปีละ 3 ล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าหากมีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ความเสียหายจากน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 17 ล้านเหรียญ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้งบประมาณเพียงปีละ 1.9 ล้านเหรียญในการฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยที่ราบลุ่มแห่งนี้สามารถเป็นแหล่งน้ำตื้นใต้ดินตอบสนองน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชน 60 แห่งที่มีประชากรรวม 750,000 คน 


 การจัดการทางด้านความต้องการ (Demand Side Management) 


 ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน 


 การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 


 ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาด เล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น 


 การพัฒนาระบบประปา 


 การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการ ประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น


หยุด ทำลายป่า หยุด ทำลายชุมชน หยุด อ้างเพื่อประชาชน หยุด ผลาญเงินประเทศชาติ หยุดหากินกับโครงการขนาดใหญ่ หยุด เขื่อนแก่งเสือเต้น

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/06/01&s_tag=03pro12010647§ionid=0313&show=1&sk=2&searchks=''

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง