วันวานที่แม่ขนิลใต้ : กระจกสะท้อนการพัฒนาของรัฐ
บ้านแม่ขนิลใต้ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่แทรกตัวอยู่ระหว่างหุบเขา หมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งหมด ๕๖ หลังคาเรือน จำนวนประชากร ๒๐๐ กว่าคน วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเกษตรกรรมแบบยังชีพ ที่ดูเรียบง่ายอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ของป่าลุ่มน้ำขาน
ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้ได้เป็นสถานที่ในการพบปะ ของชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ด้วยสำเนียงเสียงภาษาที่แตกต่างกันของกลุ่มคนก็ทำให้รู้ได้ว่าชาวบ้านที่มารวมตัวกันมาจากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ชาวบ้านแม่ขนิลใต้ จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ชาวบ้านจากจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวบ้านกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “ เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อน และการจัดการน้ำของรัฐ ”
ประเด็นที่ชาวบ้านเครือข่ายฯพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวันนั้นคือ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐ แนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐ และข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านที่เดือดร้อนในแต่ละแห่งก็นำเสนอสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างกันออกไป
โดยชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูน จังหวัดอุบลราชธานีที่ได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างเขื่อนได้กล่าวว่า “ นอกจากเขื่อนปากมูนจะทำให้ระบบนิเวศและสภาพธรรมชาติเสียหายแล้ว ยังเป็นโครงการของรัฐที่ทำให้ไทบ้านแตกแยกกันหลายหมู่บ้านจนทุกวันนี้ก็มีปัญหาอยู่เช่นเดิม คือ ชุมชนแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย มีทั้งผู้เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เขื่อนทำลายธรรมชาติและชีวิตชุมชน สิ่งที่รัฐต้องทำคือการยกเลิกใช้เขื่อนปีละ ๔ เดือนมาเป็นการเปิดประตูระบายน้ำถาวร พร้อมทั้งฟื้นฟูชีวิตชุมชน และธรรมชาติ ”
เช่นเดียวกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษที่มองว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายสภาพธรรมชาติ และทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน โดยชาวบ้านได้กล่าวว่า “ การสร้างเขื่อนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทบ้านเข้าไปหากินหาอยู่ในป่าทามไม่ได้แล้ว ยังทำให้ไทบ้านแตกแยกกันออกเป็น ๑๓ กลุ่ม เป็นไทบ้านเหนือเขื่อน ใต้เขื่อน ผู้ได้รับประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ เขื่อนทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน ” สำหรับข้อเรียกร้องนั้น ชาวบ้านได้เรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี และเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน
การนำเสนอสภาพปัญหาของชาวบ้านจากทั้ง ๒ กรณีแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการจัดการน้ำโดยภาครัฐ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนท้องถิ่น ความผิดพลาดล้มเหลวดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนตระหนักถึงผลกระทบที่กำลัง จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนในบริเวณชุมชนของตนเอง
ลุ่มน้ำขานเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทางรัฐได้มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่ขาน ซึ่งถ้าหากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสภาพธรรมชาติ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ชาวบ้านแม่ขนิลใต้ได้กล่าวว่า “ โครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน สร้างห่างจากอุทยานแห่งชาติออบขานไปทางใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร ทางรัฐอ้างว่าสร้างในบริเวณป่าเสื่อมโทรม แต่ความจริงแล้วเป็นพื้นที่ป่าที่ความอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ในจังหวัดเชียงใหม่มีออบอยู่ ๒ แห่งคือ ออบหลวงกับออบขาน การสร้างเขื่อนจะทำให้ท่วมพื้นที่ธรรมชาติตรงนี้ และทำให้บ้านแม่ขนิลใต้ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีอายุมากว่า ๒๐๐ ปีถูกน้ำท่วม และนอกจากนี้ความเสียหายจะเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอหางดงที่เป็นสถานที่เก็บน้ำด้วย ”
นอกจากชาวบ้านแม่ขนิลใต้แล้ว ชาวบ้านคลองกลาย จังหวัดนครศรีธรรมราชได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อนคลองกลายว่า “ การสร้างเขื่อนคลองกลายสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมในโครงการ Southern Seaboard การศึกษาพบว่าพื้นที่สร้างเขื่อนอยู่ในแนวเลื่อนของเปลือกโลก ซ ึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การสร้างเขื่อนจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของชาวบ้าน และทำลายธรรมชาติ ”
ความคิดเห็นของชาวบ้านทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนได้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนการพัฒนาของรัฐ ว่าอีกด้านหนึ่งของการเจริญเติบโตในเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่มีอยู่ดาษดื่นในทุกภูมิภาค ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ความล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นยังคงมีปรากฎอยู่อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาบนวิถีทางของทุนนิยม
แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่หุบเขาแห่งลุ่มน้ำขาน อากาศหนาวเย็นเริ่มมาเยือน การพูดคุยของชาวบ้านในวันนั้นทิ้งท้ายไว้เพียงข้อเสนอเรียกร้องต่อทางภาครัฐ ที่ชาวบ้านทุกคนต่างหวังว่าการพัฒนาในอนาคต รัฐควรจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการน้ำโดยภาคประชาชน เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้กับชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคม และเพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง