ปชป.ขยับยื่นศาล รธน.ตีความเขื่อนกั้นโขง
มติชน วันที่ 6 สิงหาคม 2551

คัดค้าน - นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (ซ้าย) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.ระบบสัดส่วน ร่วมแถลงข่าวคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และเตรียมเสนอให้พรรคพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การที่รัฐบาลไทยกับลาวร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) โดยไม่ขออนุมัติจากรัฐสภานั้นขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่รัฐสภา ถึงกรณีรัฐบาลไทยและลาวลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชียคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนกั้นน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมพรรค เบื้องต้นคิดว่าโครงการนี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่อยากได้การสนับสนุนจากพรรคเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดมาตรา 190 หรือไม่ เช่นเดียวกับการตีความกรณีปราสาทพระวิหาร ประเด็นต่อมาคือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่สามารถทำได้ เพราะไทยยังเป็นสมาชิกกรรมาธิการน้ำโขง (MRC) ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ถ้าประเทศใดจะดำเนินการอะไรบนแม่น้ำโขง จะต้องขอมติจากกรรมาธิการดังกล่าว แต่ครั้งนี้กลับไม่รายงานต่อกรรมาธิการ
นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนเอ็มโอยูจากชื่อ 2 บริษัทเป็นคำว่า "ภาคเอกชน" จึงน่าสังเกตว่า ระยะเวลาไม่กี่วันกลับไประบุชื่อบริษัทได้อย่างไร บริษัทได้ชักนำให้รัฐบาลไปเจรจาได้อย่างไร ไม่เข้าใจว่าภาคเอกชนมีบทบาทเหนือการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร จากข้อมูลอยู่ในมือทั้งหมด จึงมีแนวโน้มว่า 2 บริษัทน่าจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลจากการสร้างเขื่อน
รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จะจัดประชุมวิชาการนานาชาติวันที่ 3-5 กันยายนนี้ ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลฯ มีนักวิจัยชั้นนำจากประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนผลการศึกษา และร่วมกันวางแนวทางการป้องกันปัญหา และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง |